วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555



 ประวัติศาสตร์นครลำปาง
       จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่มีความเก่าแก่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาแล้วไม่น้อยกว่า 1,300 ปี ตั้งแต่สมัยหริภุญชัย (พระนางจามเทวี) เป็นต้นมา คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชื่อของเมืองเขลางค์อันเป็นเมืองในยุคแรก ๆ และเมืองนครลำปาง ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ทั้งจากตำนานศิลาจารึกพงศาวดาร และจากคำที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปอย่างแพร่หลาย ได้แก่ตำนานจามเทวี ชินกาลบาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเจ้าเจ็ดตน พงศาวดารโยนก
       คำว่า '"ละกอน" หรือ "ละคร" (นคร) เป็นชื่อสามัญของเมืองเขลางค์ที่นิยมเรียกกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในตำนานและภาษาพูดโดยทั่วไป แม้แต่จังหวัดใกล้เคียงเช่น แพร่ น่าน เชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ มักจะเรียกชาวลำปางว่า "จาวละกอน" ซึ่งหมายถึง ชาวนคร คำว่าละกอนมีชื่อทางภาษาบาลีว่า เรียกว่า "เขลางค์ "เช่นเดียวกับ ละพูรหรือลำพูน ซึ่งทางภาษาบาลีเรียกว่า "หริภุญชัย"และเรียกลำปางว่า "ลัมภกัปปะ" ดังนั้น เมืองละกอนจึงหมายถึง บริเวณอันเป็นที่ตั้งของเมืองเขลางค์ คือเมืองโบราณรูปหอยสังข์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง อยู่ในตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
       ส่วนคำว่า"ลำปาง" เป็นชื่อที่ปรากฎหลักฐานอย่างชัดแจ้งในตำนานพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า "ลัมภกัปปนคร" ตั้งอยู่บริเวณลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศใต้ตามแม่น้ำวังประมาณ 16 กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน ตัวเมืองลัมภกัปปนครมีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่
       ลักษณะของเมือง ศึกษาดูจากภาพถ่ายทางอากาศและการเดินสำรวจทางภาคพื้นดิน พบว่ามีคันคูล้อมรอบ 3 ชั้น (แต่ปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น) นอกจากนี้พบเศษกระเบื้อง ภาชนะดินเผา เศียรพระพุทธรูปดินเผาสมัยหริภุญชัยและสถูปแบบสมัยหริภุญชัย สันนิษบานว่าเมืองลัมภกัปปะนี้น่าจะเป็นเมืองกัลปนาสงฆ์ (เมืองทางศาสนา) มากกว่าจะเป็นเมืองทางอาณาจักรที่มีอำนาจทางการปกครองบ้านเมืองอย่างเป็นระเบียบแบบแผน
       ตามตำนาน วัดพระธาตุลำปางหลาง (ฉบับสาขาสมาคม เพื่อการรักษาสมบัติวัฒนธรรมประจำจังหวัดลำปาง) ได้กล่าวถึงเรื่องราวของเมืองลำปางไว้ว่า
       "พระพุทธเจ้าได้เสด็จด้วยลำดับบ้านใหญ่เมืองน้อย ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าไปรอดบ้านอันหนึ่งชื่อ ลัมพการีวัน พระพุทธเจ้านั่งอยู่เหนือดอยม่อนน้อย สูงสะหน่อย ยังมีลัวะ ชื่ออ้ายคอน มันหันพระพุทธเจ้า เอาน้ำผึ้งใส่กระบอกไม้ป้างมาหื้อทานแก่พระพุทธเจ้า กับหมากพ้าว 4 ลูก พระพุทธเจ้ายื่นบอกน้ำเผิ้งหื้อแก่มหาอานนท์ถอกตกปากบาตร พระพุทธเจ้าฉันแล้ว ชัดบอกไม้ไปตกหนเหนือ แล้วพระพุทธเจ้าทำนายว่า สถานที่นี้จักเป็นเมืองอันหนึ่งชื่อ "ลัมภางค์"
       ดังนั้นนามเมืองลำปาง จึงหมายถึงชื่อของเมืองอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน
       จังหวัดลำปางเดิมชื่อ "เมืองนครลำปาง" จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ ศิลาจารึก เลขทะเบียน ลป.1 จารึกเจ้าหมื่นคำเพชรเมื่อ พ.ศ.2019 และศิลาจารึกเลขทะเบียน ลป.2 จารึกเจ้าหาญสีทัต ได้จารึกชื่อเมืองนี้ว่า "ลคอร" ส่วนตำนานชินกาลมารีปกรณ์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเมืองเชียงแสน ตลอดจนพงศาวดารของทางฝ่ายเหนือ ก็ล้วนแล้วแต่เรียกชื่อว่า เมืองนครลำปาง แม้แต่เอกสารทางราชการสมัยรัตนโกสินตอนต้น ก็เรียกเจ้าเมืองว่า พระยานครลำปาง นอกจากนี้จารึกประตูพระอุโบสถวัดบุญวาทย์วิหาร ก็ยังมีข้อความตอนหนึ่งจารึกว่า เมืองนครลำปาง แต่เมื่อมีการปฏิรูปบ้านเมืองจากมณฑลเทศาภิบาลเป็นจังหวัด ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 ปรากฏว่า ชื่อของเมืองนครลำปาง ได้กลายมาเป็นจังหวัดลำปาง มาจนกระทั่งทุกวันนี้

 ประวัติความเป็นมาของเมืองนครลำปาง

       เรื่องราวของเมืองนครลำปางในยุคแรกๆ หรือยุคเมืองเขลางค์นั้น ส่วนใหญ่ทราบหลักฐานในตำนาน ชินกาลบาลีปกรณ์ ซึ่งได้กล่าวถึงประวัติการสร้างเขลางค์ ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 13 ว่า
       ในราว พ.ศ.1200 พระสุเทวฤษี ซึ่งอาศัยอยู่ที่ดอยสุเทพได้เชิญชวนให้พระสุกทันตฤษีแห่งละโว้ มาช่วยกันสร้างเมืองนครหริภุญชัย เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงไปทูลขอผู้ปกครองจากพระเจ้านพราชกษัตริย์แห่งละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งได้ประทานพระนางจามเทวี ราชธิดาให้มาเป็นผู้ปกครอง พร้อมกับนำพระภิกษุสงฆ์ผู้รอบรู้ในพระไตรปิฎก พรามณ์โหรา นักปราชญ์ราชบัณฑิต แพทย์ ช่างฝีมือ เศรษฐี คหบดีอย่างละ 500 คนมาด้วย ขณะนั้นพระนางทรงครรภ์ เมื่อมาถึงได้ราว 3 เดือน ก็ประสูติพระโอรสฝาแฝด ผู้พี่ทรงพระนามว่า "เจ้ามหันตยศกุมาร" ส่วนผู้น้องทรงพระนามว่า "เจ้าอนันตยศกุมาร" เมื่อพระโอรสทั้ง 2 ทรงเจริญวัยขึ้น ประกอบกับพระนางชราภาพมากแล้ว จึงได้ทำพิธีราชาภิเษกให้ เจ้ามหันตยศกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ ครองเมืองหริภุญชัย ส่วนเจ้าอนันตยศกุมารทรงดำรงตำแหน่ง อุปราช
       ตำนานเล่าว่า เมื่อพระนางจามเทวีได้ราชาภิเษก ให้เจ้ามหันตยศกุมารขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองหริภุญชัยแล้ว ฝ่ายเจ้าอนันตยศกุมารก็ปรารถนาอยากไปครองเมืองแห่งใหม่ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้พระมารดาได้ทรงทราบ พระนางทรงแนะนำให้ไปหา ฤษีวาสุเทพ เพื่อขอให้สร้างเมืองถวาย แต่ฤษีวาสุเทพได้แนะนำให้ไปหาพรานเขลางค์ซึ่งอยู่ที่ภูเขาบรรพต ดังนั้นพระเจ้าอนันตยศจึงพาข้าราชบริพารเสด็จออกจากหริภุญชัยไปยังเขลางค์บรรพต ครั้นเมื่อพบพรานเขลางค์แล้ว ก็ทรงขอให้นำไปพบพระสุพรหมฤษีบนดอยงามหรือภูเขาสองยอด แล้วขออาราธนาช่วยสร้างบ้านเมืองให้ พระสุพรหมฤษีจึงขึ้นไปยังเขลางค์บรรพตเพื่อมองหาชัยภูมิสร้างเมือง เมื่อมองไปทางยังทิศตะวันตกของแม่น้ำวังกนที ก็เห็นสถานที่แห่งหนึ่งเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม จึงได้สร้างเมืองขึ้นที่นั่น โดยกำหนดให้กว้างยาวด้านละ 500 วาแล้วเอาศิลาบาตรก้อนหนึ่งมาตั้งเป็นหลักเมืองเรียกว่า "ผาบ่อง" เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงขนานนามตามชื่อ ของนายพระหมผู้นำทางและมีส่วนร่วมในการช่วยสร้างเมืองว่า "เขลางค์นคร" และยังมีชื่อเรียกในตำนานกุกุตนครว่า"ศิรินครชัย" อีกนามหนึ่ง
       ภายหลังสร้างเมืองแล้วเสร็จ พระเจ้าอนันตยศได้ทรงราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า "พระเจ้าอินทรเกิงการ" พระองค์ครองเมืองเขลางค์อยู่ได้ไม่นาน ก็ทรงมีความรำลึกถึงมารดา จึงได้ทูลเชิญเสด็จพระนางจามเทวี พร้อมทั้งสมณชีพราหมณ์ มายังเมืองเขลางค์นคร ทรงสร้างเมืองให้พระราชมารดาประทับอยู่เบื้องปัจฉิมทิศแห่งเขลางค์นคร ให้ชื่อว่า "อาลัมพางค์นคร"

 เรื่องราวเกี่ยวกับที่ตั้งของเมืองเขลางค์นคร

       เมื่อสำรวจผังเมือง จากภาพถ่ายทางอากาศและการสำรวจภาคพื้นดิน รวมทั้งการศึกษาเรื่องราวในตำนานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเมืองเขลางค์พบว่า ผังเมืองอันเป็นที่ตั้งของเมืองเขลางค์แบ่งออกเป็น 3 ยุคได้แก่
ยุคแรกยุคสมัยจามเทวี
       ตั้งอยู่ในเขตตำบลเวียงเหนือ สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1223 โดยพระสุพรหมฤษีสร้างถวายพระเจ้าอนันตยศกุมารหรือ อินทรเกิงการ โอรสของพระนางจามเทวี เป็นเมืองคู่แฝดของเมืองหริภุญชัย ผังเมืองมีลักษณะคล้ายรูปหอยสังข์ (สมุทรสังขปัตตสัณฐาน) กำแพงเมืองชั้นบนเป็นอิฐ ชั้นล่างเป็นคันดิน 3 ชั้น สันนิษฐานว่ากำแพงอิฐที่สร้างบนกำแพงดินเป็นการต่อเติมในสมัยหลัง มีความยาววัดโดยรอบ 4,400 เมตร สร้างในพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ มีประตูเมืองสำคัญ ๆ ได้แก่ ประตูม้า ประตูผาป่อง ประตูท่านาง ประตูต้นผึ้ง ประตูป่อง ประตูนกกดและประตูตาล
       ปูชนียสถานที่สำคัญได้แก่ วัดพระแก้วดอนเต้า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ระหว่าง พ.ศ. 1979 - 2011 นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานสำคัญอีกหลายแห่งได้แก่ วัดอุโมงค์ซึ่งเป็นวัดร้าง อยู่บริเวณประตูตาล ส่วนวัดที่อยู่นอกกำแพงเมืองได้แก่ วัดป่าพร้าว อยู่ทางด้านเหนือ วัดพันเชิง วัดกู่ขาวหรือเสตกุฎาราม ซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระสิกขีปฏิมากร ในสมัยพระนางจามเทวี วัดกู่แดง วัดกู่คำ อยู่ทางทิศตะวันตก ในปัจจุบันนี้บริเวณวัดพันเชิงและวัดกู่แดง ถูกทำลายจนไม่เหลือสภาพของโบราณอยู่อีกต่อไป ระหว่างวัดกู่ขาวมายังเมืองเขลางค์มีแนวถนนโบราณ ทอดเข้าสู่ตัวเมืองทางประตูตาล สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ขณะมาประทับอยู่ในเขลางค์นคร แนวถนนโบราณนี้ยังใช้เป็นคันกั้นน้ำป่าเพื่อทดน้ำเข้าสู่คูเมืองและแบ่งเข้าไปใช้ในตัวเมืองด้วย ระดับคูน้ำจะสูงกว่าแม่น้ำสายใหญ่ เมืองในยุคนี้มีการเก็บน้ำไว้ในคอรอบทิศ โดยให้มีระดับสูงกว่าแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่านบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นแบบเฉพาะเมืองรูปหอยสังข์ยุคนี้เท่านั้น
       เมืองเขลางค์เป็นเมืองคู่แฝดกับเมืองหริภุญชัย มีชื่อในตำนานว่า เมืองละกอน หรือลคร ภายหลังจากสมัยพระเจ้าอนันตยศแล้ว สภาพของเมืองฝาแฝดกับหริภุญชัยก็หมดไป สันนิษฐานว่า เขลางค์นครมีเจ้าผู้ครองต่อมาอีกประมาณ 500 ปีแต่ไม่ปรากฏพระนามในหลักฐานหรือเอกสารใดๆ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 1755 ได้ปรากฏชื่อของเจ้านายเมืองเขลางค์พระองค์หนึ่งมีพระนามว่า เจ้าไทยอำมาตย์แห่งเขลางค์ ได้แย่งชิงอำนาจจากพระยาพิณไทย เจ้าเมืองลำพูนแล้วสถาปนาพระองค์ปกครองหริภุญชัยสืบต่อกันมาถึง 10 รัชกาล จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบา ก็สูญเสียอำนาจให้แก่พระยามังราย ใน พ.ศ. 1844


ยุคที่สองสมัยลานนาไทย
       เมืองเขลางค์ยุคที่ 2 เป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยลานนาไทย มีเนื้อที่ประมาณ 180 ไร่ กำแพงยาว 1,100 เมตร ตั้งอยู่ในตำบลเวียงเหนือ อยู่ถัดจากเมืองเขลางค์ยุคแรกลงมาทางใต้ เป็นเมืองที่ก่อกำแพงด้วยอิฐ ประตูเมืองที่มีชื่อปรากฏคือ ประตูเชียงใหม่ ประตูนาสร้อย ประตูปลายนาอันเป็นประตูที่อยู่ร่วมกับประตูนกกต ตอนท่อนหัวสังข์ของตัวเมืองเก่าและประตูป่อง ที่ประตูป่องยังคงมีซากหอรบรุ่นสมัยเจ้าคำโสมครองเมืองลำปาง ซึ่งได้ใช้เป็นปราการต่อสู้กับพม่าครั้งสำคัญ ในปี พ.ศ. 2330 พม่าล้อมเมืองอยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งกองทัพทางกรุงเทพฯ ยกขึ้นมาช่วยขับไล่พม่าแตกพ่ายไป
       โบราณสถานสำคัญในเมืองเขลางค์ยุคที่ 2 ได้แก่วัดปลายนาซึ่งเป็นวัดร้างและวัดเชียงภูมิ หรือวัดปงสนุกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อลิ้นก่านที่ดำน้ำชิงเมืองแข่งกับเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว (บิดาของเจ้า 7 ตน) แต่เจ้าลิ้นก่านแพ้จึงถูกพม่าประหารชีวิต สันนิษฐานว่าพระเจ้าลิ้นก่านคงจะเป็นเจ้าสกุลล้านนาไทยองค์สุดท้ายที่อยู่ในเมืองเขลางค์
เมืองเขลางค์สมัยลานนาไทย ได้รวมเอาเมืองเขลางค์ยุคแรก (เมืองรูปหอยสังข์) กับเมืองเขลางค์ยุคใหม่เช้าด้วยกัน ตั้งอยู่เขตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง ซึ่งเรียกกันอย่างแพร่หลายในตำนานต่าง ๆ ของทางเหนือว่า"เมืองละกอน"

 ความสำคัญของเมืองละกอนในสมัยราชวงศ์เม็งราย (พ.ศ.1839 - 2101)

       เมื่อพระเจ้าเม็งรายสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานี ในปี พ.ศ.1839 แล้ว ได้แผ่ขยายอิทธิพลมาครอบครองลำพูนและเมืองลคร (เขลางค์) กล่าวคือในพ.ศ. 1844 พระเจ้าเม็งรายโปรดให้ขุนคราม โอรส ยกกองทัพไปตีเมืองลำพูน พระยายีบาสู้ไม่ได้ จึงอพยพหนีมาพึ่งพระยาเบิกพระอนุชาที่เมืองลคร (เขลางค์) กองทัพของพระเจ้าเม็งรายซึ่งมีขุนครามเป็นแม่ทัพ ได้ยกติดตามมาประทะกับกองทัพของพระยาเบิกที่ริมน้ำแม่ตาล ปรากฏว่าพระยาเบิกเสียชีวิตในการสู้รบ ส่วนพระยายีบาเจ้าเมืองลำพูน ได้พาครอบครัวหนีไปพึ่งเจ้าเมืองสองแคว (พิษณุโลก ) ประทับอยู่ที่นั่นจนสิ้นพระชนม์ จึงสิ้นวงศ์เจ้าผู้ครองเขลางค์ยุคแรก
       ส่วนเรื่องราวในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมต่อไปอีกว่า ภายหลังจากที่พระเจ้าเม็งรายได้รับชัยชนะต่อพระยาเบิกแล้ว ได้แต่งตั้งชาวมิลักขะเป็นเจ้าเมืองแทน เจ้าเมืองคนใหม่พยายามชักชวนชาวเมืองเขลางค์สร้างเมืองใหม่ ซึ่งกลายเป็นเมืองเขลางค์ยุค 2 หลังจากนี้ก็มีเจ้าผู้ครองนครซึ่งมียศเป็นหมื่นปกครองสืบต่อกันมา เป็นเวลานาน จนกระทั่งสิ้นราชวงศ์เม็งราย พม่าก็แผ่อิทธิพลเข้ามาแทนที่ในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง
       เมืองนครลำปางเป็นหัวเมืองสำคัญของลานนาไทยมาจนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าแห่งหงสาวดีได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองลานนาไทยใน พ.ศ. 2101 ซึ่งสัญลักษณ์แห่งอำนาจของบุเรงนองยังปรากฏอยู่ทั่วไป ได้แก่ไม้แกะสลักรูปหงส์ประจำวัดต่าง ๆ (หมายถึงหงสาวดี) นับตั้งแต่นั้นมา นครลำปางตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าเป็นเวลานานร่วม ๆ 200 ปีเศษ (พ.ศ.2101 - 2317) และบางครั้งก็อยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยาบ้างเช่น สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้น
 

http://www.lampang.go.th/lamp.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น